Winter War; Russo-Finnish War (1939–1940)

สงครามฤดูหนาว, สงครามรัสเซีย-ฟินแลนด์ (พ.ศ. ๒๔๘๒–๒๔๘๓)

สงครามฤดูหนาว (ค.ศ. ๑๙๓๙–๑๙๔๐) เป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับฟินแลนด์ และนับเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เกิดขึ้นหลังจากที่เยอรมนีบุกโปแลนด์ซึ่งเป็นประเทศเป็นกลางเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ อันเป็นชนวนของสงครามโลกครั้งที่ ๒ การเข้ารุกรานฟินแลนด์ของสหภาพโซเวียตมีเป้าหมายที่จะขยายพรมแดนทางตอนเหนือเพื่อสร้างความมั่นคงให้นครเลนินกราด (Leningrad) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากพรมแดนฟินแลนด์-โซเวียตไม่มากนัก และล่อแหลมต่อการโจมตีจากศัตรูที่จะใช้ฟินแลนด์เป็นเส้นทางผ่านในการเคลื่อนพล สงครามฤดูหนาวพิสูจน์ความสามารถของกองทัพฟินแลนด์ที่สามารถต้านกองทัพสหภาพโซเวียตที่มีอานุภาพสูงกว่าได้กว่า ๓ เดือน ขณะเดียวกันก็เห็นถึงความอ่อนแอของกองทัพสหภาพโซเวียตสงครามฤดูหนาวสิ้นสุดลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพมอสโก (Moscow Peace Treaty) เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ สงครามระหว่างสหภาพโซเวียตกับฟินแลนด์ก็ก่อตัวขึ้นอีก และฟินแลนด์ได้ร่วมมือกับเยอรมนีส่งกองทัพฟินแลนด์เข้าโจมตีนครเลนินกราด โดยหวังจะได้รับดินแดนที่เสียไปตามสนธิสัญญาสันติภาพมอสโกกลับคืนมา

 สงครามฤดูหนาวระหว่างสหภาพโซเวียตกับฟินแลนด์เกิดขึ้นเมื่อกองทัพโซเวียตได้ยาตราทัพเข้าโจมตีฟินแลนด์เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๙ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปะทุขึ้นเพียง ๓ เดือนเท่านั้นสาเหตุของการรุกรานของโซเวียตอาจมองย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* จะสิ้นสุดลง เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ฟินแลนด์ซึ่งมีฐานะเป็นแกรนด์ดัชชีของจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่รัชสมัยซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑–๑๘๒๕)* เห็นเป็นโอกาสประกาศเอกราชและแยกดินแดนเป็นอิสระจากอำนาจการปกครองของซาร์ จึงเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มพิทักษ์ขาว (White Guard) ที่ต่อต้านลัทธิสังคมนิยมกับกลุ่มพิทักษ์แดง (Red Guard) ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปสังคมตามลัทธิมากซ์ (Marxism)* ที่ได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนีและสหภาพโซเวียตตามลำดับ ท้ายที่สุดฝ่ายขาวเป็นผู้มีชัยชนะ ในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ฟินแลนด์ได้แยกทำสนธิสัญญาสงบศึกกับสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยสหภาพโซเวียตต้องยินยอมรับรองพรมแดนของฟินแลนด์ซึ่งมีพรมแดนประชิดนครเลนินกราด [ชื่อเดิมคือกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg)] ที่ห่างไปเพียง ๓๒ กิโลเมตรเท่านั้นดังนั้นในด้านยุทธศาสตร์จึงถือได้ว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสหภาพโซเวียตที่ประเทศศัตรูอาจใช้ฟินแลนด์เป็นเส้นทางผ่านเพื่อโจมตีนครเลนินกราดได้ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้แก่สหภาพโซเวียต โดยเฉพาะฝ่ายเสนาธิการทหารมาโดยตลอด กอปรกับแนวคิดว่าฟินแลนด์เป็นดินแดนของซาร์ที่สหภาพโซเวียตควรเข้าครอบครอง จึงทำให้สหภาพโซเวียตคิดวางแผนเพื่อขยายพรมแดนด้านที่ติดกับฟินแลนด์เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่นครเลนินกราด และปลอดภัยจากการรุกรานของประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะเยอรมนี

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก่อตัวขึ้นในวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ โดยกองทัพเยอรมันเข้ารุกรานโปแลนด์ ฟินแลนด์ได้ประกาศตนเป็นกลาง สหภาพโซเวียตจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะเข้ารุกรานฟินแลนด์ โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม สหภาพโซเวียตได้ทำกติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ (Ribbentrop-Molotov Pact)* หรือกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมนีกับสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Treaty of Nonaggression between Germany and the Union of Soviet Socialist Republics) ที่กำหนดให้ทั้ง ๒ประเทศจะไม่รุกรานและก่อสงครามกันเป็นเวลา ๑๐ ปี และจะวางตัวเป็นกลางหากฝ่ายหนึ่งถูกประเทศที่ ๓ โจมตี กติกาสัญญาฉบับนี้ยังมีพิธีสารลับ (secret protocol) พ่วงท้าย ซึ่งแบ่งเขตอิทธิพลในยุโรประหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต โดยสหภาพโซเวียตจะได้ครอบครองฟินแลนด์

 ก่อนที่จะดำเนินการเข้ารุกรานฟินแลนด์ สหภาพโซเวียตได้พยายามเจรจาเพื่อให้กองกำลังฟินแลนด์ถอยห่างจากพรมแดนพร้อมกับขอเช่าคาบสมุทรฮังกอ (Hanko) เป็นเวลา ๓๐ ปี เพื่อสร้างฐานทัพเรือ แต่ฟินแลนด์ปฏิเสธเมื่อไม่ประสบความสำเร็จสหภาพโซเวียตจึงกล่าวหาฟินแลนด์ว่าได้ยิงปืนใหญ่ข้ามพรมแดน


เข้ามายังหมู่บ้านไมนีลา (Mainila) ใกล้พรมแดนในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน และทำให้ทหารโซเวียตเสียชีวิต ๔ นาย และได้รับบาดเจ็บ ๙ นาย เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhaylovich Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของโซเวียตจึงเรียกร้องให้รัฐบาลฟินแลนด์รับผิดชอบ และให้กองกำลังฟินแลนด์ถอยห่างจากพรมแดนไปประมาณ ๒๐–๒๕ กิโลเมตร หลังฟินแลนด์ปฏิเสธ สหภาพโซเวียตจึงประกาศยกเลิกกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างสหภาพโซเวียตกับฟินแลนด์ ค.ศ. ๑๙๓๔ โดยไม่แจ้งล่วงหน้าในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน

 สหภาพโซเวียตพยายามนำยุทธวิธีทำสงครามสายฟ้าแลบ (Lightning War)* มาใช้ โดยทิ้งระเบิดถล่มกรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) อย่างหนักเพื่อกดดันให้ฟินแลนด์ยอมจำนนแต่ประสบความล้มเหลวฟินแลนด์ยืนหยัดต่อสู้อย่างทรหดทั้ง ๆ ที่มีกำลังทหารน้อยกว่ามาก สหภาพโซเวียตส่งกำลังทหารเข้าบุกฟินแลนด์จำนวน ๔๕๐,๐๐๐ นาย ขณะที่ทหารฟินแลนด์มีกำลังเพียง ๑๘๐,๐๐๐ นาย ทั้งสหภาพโซเวียตยังมีจำนวนรถเกราะประจัญบาน รถถัง และเครื่องบินรบที่มีจำนวนมากกว่าหลายสิบเท่าตัว (รถเกราะประจัญบานและรถถัง ๖,๕๔๑ คัน : ๓๐ คัน เครื่องบินรบ ๓,๘๐๐ ลำ : ๑๓๐ ลำ) ความล้มเหลวที่จะพิชิตฟินแลนด์ได้อย่างรวดเร็ว และต้องใช้เวลาอันยาวนานกว่าที่วางแผนไว้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมของกองทัพสหภาพโซเวียตซึ่งได้รับผลกระทบจากการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ที่โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตดำเนินการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งได้ประหารชีวิตหรือจำคุกนายทหารกว่า ๓๐,๐๐๐ นาย ซึ่งจำนวนไม่น้อยอยู่ในระดับผู้บังคับบัญชากองทัพระดับสูง ดังนั้นนายทหารที่เหลือที่บัญชาการรบจึงเป็นนายทหารที่ขาดประสบการณ์ ทั้งอยู่ในระดับกลาง ๆ นอกจากนี้ทหารฟินแลนด์ภายใต้การนำของนายพลคาร์ลกุสทาฟ เอมีล มันเนอร์ไฮม์ (Carl Gustav Emil Mannerheim)* รวมทั้งประชาชนก็ยืนหยัดต่อสู้อย่างทรหด มีการตั้งรับการบุกบริเวณแนวป้องกันมันเนอร์ไฮม์ (Mannerheim Line) ซึ่งผ่านคอคอดคาเรเลีย (Karelia) ไปจนจดพรมแดนด้านที่ติดนครเลนินกราดอีกด้วย

 นอกจากนี้เครื่องแบบทหารสหภาพโซเวียตที่เป็นสีดำก็แลเห็นได้ชัดเจน เพราะตัดกับสีขาวโพลนของหิมะซึ่งทำให้ตกเป็นเป้าของทหารปืนกลและทหารแม่นปืนได้โดยง่าย มีรายงานว่าซีมอน แฮยา (Simon Häya) ทหารแม่นปืนสามารถสังหารทหารโซเวียตได้ถึง ๕๐๐ นาย ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยทหารสกี (mobile ski troop) ที่ได้รับสมญาว่า “ยมทูตสีขาว” ก็สามารถซุ่มโจมตีกองทัพโซเวียตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหน่วยทหารสหภาพโซเวียตที่ตั้งกองกำลังอย่างโดดเดี่ยวรวมทั้งใช้ทหารสกีเคลื่อนที่ที่ประกอบด้วยทหารทีมละ ๔ นาย ซึ่งแอบใช้สารเคมีที่ต่อมาเรียกว่า “Molotov Cocktail” เจือปนกับน้ำมันของรถถัง และสามารถทำลายรถถังของสหภาพโซเวียตได้ถึง ๒,๐๐๐ คัน ทหารฟินแลนด์ได้รับชัยชนะอย่างงดงามในถนนราเต (Raate Road) ใกล้เมืองซัวมุสซัลมี (Suomussalmi) ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๐ กองกำลังฟินแลนด์สามารถตัดขาดหน่วยทหารราบที่ ๔๔ (44ᵗʰ Infantry Division) ซึ่งมีทหารจำนวน ๒๕,๐๐๐ นาย ต่อมา หน่วยทหารที่ ๙ ของฟินแลนด์ (Finnish 9ᵗʰ Division) ภายใต้การนำของพันเอก ยัลมาร์ ซีลัสวัว (Hjalmar Siilasvuo) ก็สามารถตีกองทัพโซเวียตจนแตกพ่ายทหารโซเวียตจำนวน ๑๗,๕๐๐ นายเสียชีวิต ขณะที่ทหารฟินแลนด์เสียชีวิตจำนวน ๒๕๐ นายเท่านั้น

 อย่างไรก็ดี เมื่ออากาศอุ่นขึ้นความได้เปรียบทางธรรมชาติของฟินแลนด์ก็หมดไป กองทัพโซเวียตจึงสามารถตีฝ่าแนวป้องกันมันเนอร์ไฮม์เข้าไปได้ และมีชัยชนะตามลำดับ ขณะเดียวกันอังกฤษและฝรั่งเศสก็วางแผนให้ความช่วยเหลือแก่ฟินแลนด์ โดยจะยกกองทัพผ่านทางตอนเหนือคาบสมุทรสแกนดิเนเวียแต่ทั้งสวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์กที่ยึดถือนโยบายเป็นกลางไม่ยินยอมให้กองทัพสนธิกำลังของอังกฤษและฝรั่งเศสเคลื่อนพลผ่านคาบสมุทรสแกนดิเนเวียจึงทำให้แผนการที่จะให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ฟินแลนด์รวมทั้งแผนการที่จะเข้าไปควบคุมอุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็กทางตอนเหนือของสวีเดนและการตัดขาดการขนส่งแร่เหล็กไปยังเยอรมนีต้องยุติลง ในเวลาไม่ช้า


รัฐบาลฟินแลนด์จึงต้องจำนนต่อกองทัพโซเวียตเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ และในวันรุ่งขึ้นก็ต้องยินยอมทำสนธิสัญญาสันติภาพมอสโกและถูกบังคับให้ยอมรับสนธิสัญญาสงบศึกซึ่งฟินแลนด์เสียเปรียบอย่างมากฟินแลนด์ต้องสูญเสียดินแดนในเขตคาเรเลียตอนใต้และเมืองวีบอร์ก (Vyborg) ให้แก่สหภาพโซเวียตรวมทั้งประชากรอีกร้อยละ ๑๒ นอกจากนี้ชาวฟินแลนด์ต้องอพยพออกจากคาบสมุทรฮังกอซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่อ่าวฟินแลนด์เพื่อให้โซเวียตใช้เป็นฐานทัพเรือเป็นเวลา ๓๐ ปี

 ขณะที่สงครามฤดูหนาวดำเนินอยู่นั้น สันนิบาตชาติ (League of Nations)* ได้ประณามสหภาพโซเวียตที่ใช้กำลังเข้าโจมตีฟินแลนด์ซึ่งเป็นประเทศเป็นกลาง และขับสหภาพโซเวียตออกจากการเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ นอกจากนี้สงครามฤดูหนาวยังทำให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีมองเห็นจุดอ่อนของกองทัพโซเวียตและเชื่อมั่นว่ากองทัพเยอรมันแข็งแกร่งพอที่จะบดขยี้สหภาพโซเวียตได้ อังกฤษและฝรั่งเศสเองก็เห็นว่าสหภาพโซเวียตไม่เข้มแข็งพอที่จะเป็นพันธมิตรในการต่อต้านเยอรมนีแม้สงครามจะนำความพ่ายแพ้มาสู่ฟินแลนด์แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของกองกำลังฟินแลนด์และความอ่อนด้อยของกองทัพสหภาพโซเวียต ฟินแลนด์สูญเสียทหารประมาณ ๒๕,๐๐๐ นาย บาดเจ็บ ๔๕,๐๐๐ นาย แต่สหภาพโซเวียตสูญเสียมากกว่า โดยมีทหารเสียชีวิตและสูญหายรวมกัน ๘๕,๐๐๐ นาย และบาดเจ็บ ๑๘๖,๐๐๐ นาย และทำให้สหภาพโซเวียตต้องหันมาปฏิรูปกองทัพอย่างเร่งด่วน

 หลังสงครามฤดูหนาว ฟินแลนด์ยังคงได้รับแรงกดดันจากสหภาพโซเวียตอย่างต่อเนื่องจนทำให้ต้องแสวงหาพันธมิตรจากเยอรมนีเพื่อป้องกันประเทศต่อมาได้อนุญาตให้กองทัพเยอรมันเคลื่อนพลในเขตแลปแลนด์ (Lapland) ได้ เมื่อเยอรมนีซึ่งล้มเหลวในการพิชิตอังกฤษในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* ค.ศ. ๑๙๔๐ จึงหันมากอบกู้ชื่อเสียงด้วย


การบุกโจมตีสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ด้วยแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* การบุกของเยอรมนีทำให้กติกาสัญญานาซี-โซเวียตสิ้นสุดลงโดยปริยายและนำไปสู่การเกิดสงครามที่สหภาพโซเวียตเรียกว่า มหายุทธการกอบกู้ปิตุภูมิ (Great Patriotic War)* ฟินแลนด์ได้ประกาศตนเป็นกลาง แต่สหภาพโซเวียตก็ตอบโต้ด้วยการส่งกำลังทางอากาศเข้าโจมตีเมืองต่าง ๆ ทางใต้ของฟินแลนด์ ซึ่งทำให้รัฐบาลฟินแลนด์ต้องประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียตในวันที่ ๒๕ มิถุนายน และส่งกองทัพเข้าโจมตีสหภาพโซเวียตพร้อมกันนั้นกองทัพเยอรมันก็โจมตีสหภาพโซเวียตด้วยโดยฟินแลนด์หวังว่าจะยึดดินแดนที่สูญเสียในสงครามฤดูหนาวคืนมา ในเวลาไม่ช้าอังกฤษก็ประกาศสงครามกับฟินแลนด์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฟินแลนด์ด้วยเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ฟินแลนด์จึงกลายเป็นประเทศพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ และต้องยินยอมทำสนธิสัญญาสงบศึกกับสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ โดยเสียดินแดนเพิ่มเติมจากที่เคยสูญเสียในสงครามฤดูหนาว ได้แก่ ดินแดนทางตอนใต้ของเขตคาเรเลียและดินแดนตามชายแดนด้านตะวันออก รวมทั้งฉนวนลงสู่มหาสมุทรอาร์กติกนอกจากนี้ยังต้องให้สิทธิการเช่าคาบสมุทรพอร์กคาลา (Porkkala)ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเฮลซิงกิเพียง๓๒กิโลเมตรแก่สหภาพโซเวียตเพื่อเป็นฐานทัพเป็นเวลา ๕๐ ปี โดยแลกคืนกับคาบสมุทรฮังกอที่ฟินแลนด์เคยให้สิทธิเช่าแก่สหภาพโซเวียตหลังสงครามฤดูหนาวสิ้นสุดลง.



คำตั้ง
Winter War; Russo-Finnish War
คำเทียบ
สงครามฤดูหนาว, สงครามรัสเซีย-ฟินแลนด์
คำสำคัญ
- กติกาสัญญานาซี-โซเวียต
- กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ
- การกวาดล้างครั้งใหญ่
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- นาซี
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- มหายุทธการกอบกู้ปิตุภูมิ
- โมโลตอฟ, เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช
- ยมทูตสีขาว
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ลัทธิมากซ์
- สงครามฤดูหนาว
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สตาลิน, โจเซฟ
- สนธิสัญญาสันติภาพมอสโก
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต
- สัญญานาซี-โซเวียต
- สัญญาสงบศึก
- สันนิบาตชาติ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1939–1940
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๘๒–๒๔๘๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-